วันศุกร์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2560

รูปแบบการจัดศึกษาในราชอาณาจักรกัมพูชา


                 การจัดการศึกษาในกัมพูชานั้น เป็นการจัดศึกษาแบบซ้ำชั้นโดยใช้ระบบเปอร์เซ็นต์ (Percent) ที่กำหนดขึ้นในแต่ละปีไม่เหมือนกัน การจัดการศึกษานี้ถูกกำหนดขึ้นจากรัฐบาลในการกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ เยาวชนและกีฬา (Ministry of Education, Youth and Sport) โดยมีการแบ่งการดำเนินการและรับผิดชอบ เป็น 3 ระดับ โดยกระทรวงนี้รับผิดชอบในการกำหนดนโยบายระดับชาติ และจัดทำหลักสูตรแกนกลางสำหรับการศึกษาของชาติ ส่วนวิทยาลัยเทคนิคและการศึกษาสายอาชีพในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายนั้นขึ้นอยู่กับการรับผิดชอบของเจ้ากระทรวงนั้นๆ (กระทรวงเกษตร กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน ฯลฯ) ระดับต่อมา คือ ระดับจังหวัดและระดับอำเภอ
             สำหรับระบบการศึกษาโดยทั่วไปในกัมพูชา  เป็นระบบ 6 / 3 / 3 ปี จำแนกเป็น ระดับประถมศึกษา (ชั้น 1-6) จำนวน 6 ปี ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (ชั้น 7-9) จำนวน 3 ปี และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ชั้น 10,11 และ12) จำนวน 3 ปี ดังมีรายละเอียดดังนี้
                   1. ระดับประถมศึกษา (ชั้น 1-6) จำนวน 6 ปี มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มพูนทักษะต่างๆ ให้แก่นักเรียน เช่น ทักษะการอ่านและทักษะการเขียน เพื่อให้นักเรียนตระหนักและธำรงไว้ซึ่งคุณค่าของศิลปะและการแสดง และเพื่อให้โอกาสนักเรียนได้พัฒนา ความสนใจและความเข้าใจในจารีตประเพณีและวัฒนธรรมของชาติ
                   2. ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (ชั้น 7-9) จำนวน 3 ปี  มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เข้าใจถึงคุณค่าที่แท้จริงของศิลปะเขมร คุณค่าของความงาม/สุนทรียศาสตร์ เพื่อพัฒนาให้นักเรียนมีทักษะในการแสดงเพิ่มขึ้น มีความสนใจกิจกรรมทางด้านศิลปะเพื่อการแสดงเห็นคุณค่าของจารีตประเพณีและวัฒนธรรม เพื่อให้นักเรียนตระหนักในคุณค่า ทางด้านสุนทรียศาสตร์  การธำรงไว้ซึ่งคุณค่าเหล่านั้น รวมทั้งให้การสนับสนุนการแสดงออกทางด้านศิลปะการแสดงต่างๆ และเพื่อให้นักเรียนได้มีโอกาสพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ มีความสนใจในศิลปะความงาม /สุนทรียศาสตร์และมรดกทางด้านวัฒนธรรม
                   3. ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ชั้น 10,11 และ 12) จำนวน 3 ปี มีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักเรียนตระหนักในทฤษฎีพื้นฐาน ทางด้านศิลปะและการทำงานทางด้านศิลปะ เพื่อให้นักเรียนตระหนักในคุณค่าที่แท้จริงและความสำคัญของศิลปะและวัฒนธรรมเพื่อให้นักเรียนมีจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ เพื่อให้นักเรียนมีความระมัดระวังและธำรงไว้ซึ่งความรักในงานศิลปะการแสดงออกความรู้สึกที่ดีในงานศิลปะต่างๆ เพื่อให้นักเรียนมีความรัก รู้จักป้องกันและพัฒนาศิลปะประจำชาติ และเพื่อพัฒนานักเรียนให้มีทัศนคติที่ดีต่อศิลปะประจำชาติและศิลปะนานาชาติ
                  ปัจจุบันมีการจัดการเรียนการสอนระดับก่อนประถมศึกษา และอนุบาลที่รับเด็กอายุ  3-5  ปี ซึ่งมีเฉพาะบางพื้นที่ เช่นในเมืองเท่านั้น ในการเรียนนักเรียนต้องเรียนระดับประถมศึกษาจากชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6  และเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ในระดับชั้น 7 ถึง 9 จากนั้นต้องสอบให้ผ่านการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นเสียก่อนจึงจะสามารถเข้าเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายในชั้น10 ถึง 12 หลังจากจบชั้น 12 แล้วจะมีการสอบประมวลวิชาเพื่อรับประกาศนียบัตรมัธยมศึกษาตอนปลาย  ซึ่งเรียกว่า บักดุบ” (Bac Dup) ซึ่งในการสอบนี้ ข้อสอบเป็นของศูนย์กลาง (กระทรวงศึกษาธิการ เยาวชน และกีฬา) ที่จัดการสอบพร้อมกันทั่วประเทศในช่วงเดือนสิงหาคมของทุกปี นักเรียนที่สอบไม่ผ่านตามเปอร์เซ็นต์ (Percent) ที่ศูนย์กลางกำหนดขึ้นในปีนั้น ต้องเรียนซ้ำชั้นอีกหนึ่ง หรือสามารถลงทะเบียนไว้กับโรงเรียนแล้วไม่ต้องมาเรียนก็ได้ แต่ต้องมาสอบกลางภาค ปลายภาคและสอบประมวลวิชาตามกำหนด เนื่องจากว่า หลายปีที่ผ่านมา ประเทศกัมพูชาขาดแคลนครูจำนวนมาก รัฐบาลโดยกระทรวงศึกษาธิการ เยาวชน และกีฬาได้เปิดโอกาสให้กับผู้ที่สอบไม่ผ่านชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายนั้น ได้สมัครสอบเรียนครู ที่วิทยาลัยครูเพื่อเป็นครูประถมต่อไป ส่วนนักเรียนที่สอบผ่านการสอบประมวลวิชานั้น สามารถสอบเข้าเรียนที่วิทยาลัยครูเพื่อเรียนเป็นครูประถม ครูมัธยม หรือสมัครเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยต่างๆ ได้ เมื่อก่อนหลังจากจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย  ต้องมีการสอบประมวลวิชาแล้วต้องไปทำการสอบคัดเลือกเพื่อเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยต่างๆ อีกครั้งหนึ่ง แต่ปัจจุบันผู้เรียนสามารถนำคะแนนจากการสอบประมวลวิชา เพื่อคัดเลือกเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยต่างๆได้เลย เช่น The  University  of  Health  Sciences,  The  Royal  University  of  Fine  Arts,  The  Institute of  Technology,  The  Faculty  of  Law  and  Economic  Sciences,  The  Royal  University  of Agriculture, The Royal  University  of  Phnom  Penh,  The  National  Institute  of  Management,  The  Maharishi  Vedic  University and The  Faculty of Pedagogy. นอกจากที่กล่าวมาแล้วกัมพูชายังมีมหาวิทยาลัยเอกชนเกิดขึ้นมากมาย แต่ปัญหาที่พบสำหรับการศึกษาเอกชน คือ รัฐบาลยังไม่สามารถรับรองมาตรฐานการศึกษาเอกชนได้
รูปแบบการจัดการศึกษาของโรงเรียนมัธยมศึกษา ราชอาณาจักรกัมพูชา 



(Writer : Sut Sorin)





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ประวัติอนุสาวรีย์ "ดาบเหล็กกำปงสวาย" จังหวัดกำปงธม

          ถ้าเรานั่งรถผ่านจังหวัดกำปงธม เราจะเห็นอนุสาวรีย์แห่งนี้อยู่ เรียกว่า "ดาวแดกกำปงสวาย" หมายถึง "ดาบเหล็กกำปงสวาย&qu...