วันอังคารที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2562

องค์เจก องค์จอม ศาลหลักเมืองเสียมเรียบ


            ชาวเขมร ทั้งในจังหวัดเสียมเรียบ และจังหวัดอื่นๆ มักรู้จักสถานแห่งนี้เป็นอย่างดี ที่ชื่อว่า พระองค์เจก พระองค์จอม (ព្រះអង្គចេក ព្រះអង្គចម) หรือ พระนางเจก พระนางจอม (ព្រះនាងចេក ព្រះនាងចម) ซึ่งเป็นพระสององค์ ทำจากทองแดง น้ำหนักรวม 150 กิโลกรัม องค์ใหญ่เรียกว่าองค์เจก องค์เล็กเรียกว่าองค์จอม สำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ที่มาเที่ยวจังหวัดเสียบเรียบ ประเทศกัมพูชา คงรู้จักสถานที่ตรงนี้ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่มากับบริษัททัวร์ เขาจะจัดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาสักการะตรงนี้ในเย็นวันแรกเลย เพื่อให้ท่านได้รับพร สิริมงคลในการเที่ยว อาศรมพระองค์เจก พระองค์จอม ตั้งอยู่ใกล้กับพระตำหนักของพระบาท นโรดม สีหนุ ที่เขารู้จักกันดีเพราะเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นพระคู่บ้านคู่เมือง หรือเป็นศาลหลักเมืองของจังหวัด ทุกคนจะเข้ามาสักการะตลอดทั้งวัน โดยเฉพาะในวันพระคนจะเต็มแน่นเลย อีกอย่างสำหรับคนที่แต่งงานใหม่ ก็ต้องมาขอพรจากนี้ด้วย 
            ไม่มีเอกสารหลักฐานใดบอกได้ว่าพระองค์เจก พระองค์จอมคือใคร แต่มีบางคนบอกว่าเป็นธิดาของพระมหากษัตริย์เขมรในอดีต บางก็บอกว่าเป็นรูปปฎิมาของพระนางอินทรเทวี และพระนางชัยราชเทวี ซึ่งเป็นมหาสีของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เขารู้แค่ว่ารูปปฎิมานี้สร้างขึ้นในยุคของพระบาทองค์จันท์ราชา ใน ศตวรรษที่ 16 หลังจากพระองค์กลับมายึดเมืองพระนครคืนมาได้ ตอนแรก พระองค์เจก พระองค์จอมได้ตั้งที่ปราสาทนครวัด แต่หลังจากยุคของพระบาทองค์จันท์ราชา เขมรได้ทิ้งเมืองพระนคร ทำให้พระองค์เจก พระองค์จอมถูกเคลื่อน หรือขโมยออกจากปราสาทไป และได้ค้นพบในปี ค.ศ. 1950 (ปลายๆ ยุคฝรั่งเศส) ในป่าแถวๆ เมืองนครธม แล้วเอามาเก็บไว้ที่หน่วยงาน Angkor Conservation 
          ต่อมาในปี ค.ศ.1955 หลังจากเขมรได้เอกราชจากฝรั่งเศสแล้ว พระบาท นโรดม สีหนุ ได้โปรดเกล้า นายดาบ ชวน (ដាប ឈួន) (ประวัติของคนนี้ไม่ค่อยมี ที่พอจะมีบ้างคือในหนังสือ “จริตเขมร” มีแปลเป็นภาษาไทยด้วย) ให้เป็นเจ้าเมืองปกครองสองจังหวัด คือเสียมเรียบ และกำปงธม นายดาบ ชวน เป็นคนบ้าอำนาจ (เคยได้ยินยายเล่าให้ฟัง) เมื่อมีอำนาจแล้ว ก็มีใจโลภ พาทหารไปปล้นเอาพระนางเจก พระนางจอมจากหน่วยงาน Angkor Conservation มาไว้บ้านตัวเอง เล่ากันว่า ต้องใช้ทหาร 5-6 คนถึงยกขึ้นได้ เมื่อได้พระนางมาไว้ที่บ้านตนเองแล้ว นายดาบ ชวน ก็เคารพนับ สักการะอย่างดี ในแต่ละวัน เขาต้องทำพิธีสักการะพระนางทั้งสององค์อย่างน้อย 30 นาที เนื่องจากเขานับถือเป็นอย่างดี นายดาบ ชวน สามารถยกพระนางทั้งสององค์แต่เพียงคนเดียวได้ ต่อมาดาบ ชวน รู้ว่ากษัตริย์สีหนุ อยากฆ่าตนเองด้วยข้อหากบฏ จึงแอบหนีมาประเทศไทย โดยเอาพระนางเจก พระนางจอมมาด้วย ปรากฏว่ายกไม่ขึ้น ไม่รู้จะไง ก็ตัดแขนข้างหนึ่ง แล้วหนีออกมา ได้ครึ่งทางก็ถูกทหารจับได้ แล้วประหารชีวิตในเวลาต่อมา 
ในช่วงเขมรแดง(ค.ศ.1975-1979) รูปปฎิมาพระนางทั้งสองถูกทหารเขมรแดงเอาไปโยนทิ้งในแม่น้ำเสียมเรียบ แล้วคนที่โยนนั้นก็ตายในเวลาต่อมา หลังจากสงครามจบลง คือ ค.ศ. 1979 เขาไปค้นหากเจอพระนางใต้แม่น้ำ แล้วเอาไปไว้ที่วัดดำนัก (វត្តដំណាក់) ต่อมา ค.ศ. 1982 เจ้าอาวาสวัดและผู้ว่าฯ เสียมเรียบ สมัยนั้น ได้พร้อมเพรียงกัน อัญเชิญพระนางมาตั้งไว้ใกล้ๆ พระตำหนัก จนถึง ค.ศ. 2004 รัฐมนตรีฯ กระทรวงท่องเที่ยวได้มอบเงินส่วนตัวเพื่อสร้างเป็นอาศรมอย่างที่เราเห็นในปัจจุบันนี้


พระองค์เจก พระองค์จอม

Writer : Sut Sorin


กำเนิดตำบลในประเทศกัมพูชา

          ก่อนที่ฝรั่งเศสเข้ามาปกครองเขมร ในประเทศเขมรเองยังไม่มีตำแหน่งนี้เป็นทางการ ยังอยู่ในลักษณะการปกครองกันเองเปรียบเสมือนชนเผ่าหนึ่งแล้วมีผู้นำชุมชน ซึ่งเป็นคนหนุ่มอายุน้อยที่ได้รับความไว้วางไว้จากผู้ใหญ่ในชุมชนนั้นให้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำ การบริหารชุมชนในตำแหน่งนี้ยังไม่มีเงินเดือน แต่รับได้สิ่งตอบแทนต่างๆ เช่น ข้าวสาร ของกินหรืออื่นๆ จะได้มากได้น้อยขึ้นอยู่กับผลงานของผู้นำคนนั้น หมายถึง ตำแหน่งกำนันนั้นเป็นตำแหน่งที่ทำเพื่อชุมชน ทำให้ชุมชนชอบ ชุมชนรักถึงจะได้สิ่งตอบแทน
          แต่หลังจากฝรั่งเศสเข้ามาปกครองเขมร (ค.ศ.1863-1953) ตำแหน่งดังกล่าวเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง ในยุคที่ฝรั่งเศสปกครอง เขาได้ทำการปฏิรูประบบการปกครองท้องถิ่นครั้งใหญ่ถึง 8 ครั้ง เริ่มตั้งแต่ ค.ศ. 1901 แต่ประสบความสมเร็จคือ ค.ศ.1908 ฝรั่งเศสได้จัดให้มีการเลือกตั้งกำนันขึ้น สาเหตุเพราะว่าเขาใช้กำนันที่เป็นคนเขมรทำงานแทนเขาในการเก็บภาษีจากประชาชนของตนเอง แรกๆ ยังไม่ได้รับความสนใจจากประชาชนกับตำแหน่งดังกล่าวเท่าที่ควร จึงมีนโยบายใหม่คือ มีเงินประจำตำแหน่ง และสิทธิประโยชน์อื่นๆ จากฝรั่งเศส สำหรับผู้ที่ดำรงตำแหน่งนี้ ต่อมาในปี ค.ศ. 1919 พระบาทองค์ดวง พระมหากษัตริย์เขมรในสมัยนั้น ทรงโปรดฯ ให้มีเงินประจำตำแหน่งกำนันและผู้ช่วยจากรัฐ

           จนถึง ค.ศ. 1926 -1943 ตำแหน่งนี้ได้ปฏิรูปเหมือนของฝรั่งเศส แต่ในปีเดียวกัน ระบบการเลือกตั้งกำนันก็ยุติ โดยกำนันตำบลที่เคยได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน ถูกเปลี่ยนเป็นได้รับการเลือกตั้งจากผู้ว่าราชการจังหวัดแทน โดยได้รับความเห็นชอบจากฝรั่งเศสด้วย แต่อย่างไรก็ตาม การได้มาซึ่งตำแหน่งกำนันก็ยังแบ่งออกเป็นสองประเภท คือแบบเลือกตั้ง และแบบแต่งตั้ง ตำบลไหนสำคัญๆ เขาจะใช้ระบบการแต่งตัง ตำบลไหนไม่ค่อยสำคัญ เขาจะใช้ระบบเลือกตั้ง และในปี ค.ศ. 1955 เป็นยุคที่เขมรได้รับเอกราชจากฝรั่งเศสแล้ว ได้มีประกาศให้มีการเลือกตั้งตำแหน่งกำนันตำบล โดยแต่ละจังหวัดจะมีการเลือกตั้งที่แตกต่างกัน แล้วหลังจากนั้น เขมรก็เจอปัญหาภายในประเทศ ทั้งช่วงปฏิวัติเปลี่ยนแปลงระบบการปกครอง (ค.ศ.1970-1975) และช่วงเขมรแดง (ค.ศ.1975-1979) และระบอบสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชา (ค.ศ.1979-1989) ระบอบรัฐกัมพูชา (ค.ศ.1989-1991) การเลือกตั้งกำนันตำบลเหมือนจะไม่มีข้อมูลอะไรเลย จนถึงเขมรกลับมาใช้ระบอบราชอาณาจักรกัมพูชาอีกครั้ง ตามรัฐธรรมนูญฉบับแรกหลังจากสงคราม คือรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1993 การเลือกตั้งกำนันจึงกลับมาใช้อีกครั้งจนถึงทุกวันนี้




ภาพ : หมู่บ้านแห่งหนึ่งในอำเภอปวก จังหวัดเสียมเรียบ

Writer : Sut Sorin


ประวัติอนุสาวรีย์ "ดาบเหล็กกำปงสวาย" จังหวัดกำปงธม

          ถ้าเรานั่งรถผ่านจังหวัดกำปงธม เราจะเห็นอนุสาวรีย์แห่งนี้อยู่ เรียกว่า "ดาวแดกกำปงสวาย" หมายถึง "ดาบเหล็กกำปงสวาย&qu...